11/08/2550

เพลงไทย

เพลงไทย หมายถึง เพลงที่แต่งขึ้นตามหลักของดนตรีไทย มีลีลาในการขับร้องและบรรเลงแบบไทยโดยเฉพาะ
และแตกต่างจากเพลงของชาติอื่นๆ เพลงไทยแต่เดิมมักจะมีประโยคสั้นๆ และมีจังหวะค่อนข้างเร็ว ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากเพลงพื้นบ้าน หรือเพลงสำหรับประกอบการรำเต้นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง ต่อมา เมื่อต้องการจะใช้เป็นเพลงสำหรับร้องขับกล่อม และประกอบการแสดงละคร ก็จำเป็นต้องประดิษฐ์ทำนองให้มีจังหวะช้ากว่าเดิม และมีประโยคยาวกว่าเดิม ให้เหมาะสมที่จะร้องได้ไพเราะ จึงได้คิดแต่งทำนองขยายส่วนขึ้นจากของเดิมเป็นทวีคูณ เรียกเพลงในอัตรานี้ว่า เพลงสองชั้น เพราะต้องแต่งขยายจากเพลงเดิมอีกชั้นหนึ่ง และเรียกเพลงในอัตราเดิมนั้นว่า เพลงชั้นเดียว

ประเภทของเพลงไทย อาจแบ่งออกได้เป็นพวกๆ คือ
1. เพลงสำหรับบรรเลงดนตรีล้วนๆ ไม่มีการขับร้อง เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงประโคมพิธีต่างๆ เพลงโหมโรง และเพลงหน้าพาทย์ จะเป็นเพลงสำหรับใช้ประกอบกิริยาอาการและแสดงอารมณ์ต่างๆ ของการรำ
2. เพลงสำหรับขับร้อง คือ เพลงซึ่งร้องแล้วรับด้วยการบรรเลง เรียกว่า ร้องส่งดนตรี เช่น เพลงประกอบการขับเสภา(ร้องส่งเสภา) เพลงที่ร้องส่งเพื่อฟังไพเราะทั่วไป ส่วนมากจะเป็นเพลงเถาและเพลงตับ
3. เพลงประกอบการรำ คือ เพลงร้องตามบทร้อง ให้ผู้รำได้รำตามบทหรือเนื้อร้อง ส่วนมากจะเป็นเพลงสองชั้น เพื่อให้เหมาะกับการรำไม่ช้าไปไม่เร็วไป นอกจากนั้น ก็ยังใช้เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงกิริยาอาการของผู้แสดงอีกด้วย