11/13/2550

11/12/2550

ธรรมชาติการฟังดนตรี


ดนตรีเปรียบเสมือนศิลปะ แขนงอื่น ๆ ตรงที่ดนตรีเป็นเรื่องของการฟัง สื่อกันทางหู ความไพเราะของดนตรี ใช้โสตประสาทในการรับรู้ดนตรีแล้วส่งไปยังจิตสำนึก หรือ จิตใต้สำนึก การพูดหรือการเขียนถึงดนตรีนั้น อาศัยอวัยวะรู้อื่น ๆ เช่น ตา หรือการสัมผัสซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบย่อย ๆ เท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงดนตรีได้ ถ้าปราศจากหู แต่อวัยวะส่วนอื่นจะได้รับผลประโยชน์ เป็นผลพลอยได้จากดนตรีด้วย
ด้วยเหตุที่หูของคนเราเปิดอยู่ตลอดเวลา หูไม่สามารถเลือกฟังเองได้ จิตต่างหากที่จะทำหน้าที่กลั่นกรองเสียงที่ได้ยินว่า พอใจ หรือไม่พอใจต่อเสียงใด ความพอใจต่อเสียงของจิตที่ได้ยินจากหูเป็นความไพเราะทั้งที่เป็นดนตรีและไม่เป็นดนตรี แต่ความสดใสไพเราะที่เป็นดนตรีนั้นเป็นศิลปะที่อาศัยความสะอาดของจิตเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน เสียงที่ไม่ไพเราะจิตจะไม่พอใจ เสียงเหล่านั้นเป็นเสียงสร้างความรำคาญ และความไม่พอใจของจิต ความรำคาญสืบเนื่องมาจากเสียงขาดศิลปะในการปรุงแต่งให้สวดสดงดงาม ขาดคุณสมบัติในการสร้างความเพลิดเพลิน


อย่างไรก็ตาม พอมีหลักการในการฟังดนตรีอยู่บ้าง ที่สามารถเรียนรู้ด้วยอวัยวะส่วนอื่นที่นอกไปจากหู แต่หลักการเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางในการฟังเท่านั้น ความไพเราะจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังจริง ๆ ทางหูโดยตรง
เราจะเริ่มต้นฟังดนตรีกันอย่างไร ถ้าเราจะจัดลำดับก่อนหลังในการรับรสความไพเราะโดยอาศัยดุริยางควิทยาแล้ว ก็พอจะจัดลำดับของการฟังได้ดังนี้ คือ ฟังเสียง ฟังจังหวะ ฟังทำนอง ฟังเนื้อร้อง ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน ฟังสีสันแห่งเสียง ฟังรูปแบบของคีตลักษณ์ ฟังอย่างวิเคราะห์ และฟังเพื่อประโยชน์ของชีวิต
โดยทั่วไป การฟังดนตรี เริ่มจากง่ายไปสู่การฟังที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งพอจะจัดเป็นลำดับดังนี้


1. ฟังเสียง (Sound) เสียงที่เกิดขึ้นทุกชนิดจัดอยู่ในกลุ่มนี้ หูจะเรียนรู้เสียงที่ได้ยินจะพอใจ ไม่พอใจ น่าฟัง หรือไม่น่าฟัง เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ เด็กแรกเกิดจะเรียนรู้เรื่องเสียงเด็กจะมีความสนใจต่อเสียงแปลกใหม่ เสียงสามารถสร้างความสนใจ และเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของเด็กได้ เสียงต่าง ๆ ไม่ถูกจัดระบบ เช่น เสียงรถยนต์ เสียงนกร้อง เสียงตีเกาะเคาะไม้ ลมพัด ฟ้าร้อง ฯลฯ หูเราจะทนฟังอยู่ได้ไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่าย เพราะความไม่มีศิลปะ ดนตรีประกอบด้วยเสียงต่าง ๆ เหล่านี้แต่ถูกนำมาจัดระบบเป็นศิลปะ มีความไพเราะ

2. ฟังจังหวะ (Rhythm Time) จังหวะเป็นการเอาเสียงมาจัดระบบระเบียบให้สัมพันธ์ คล้องจองกัน ความแปลกหูทำให้น่าฟัง เช่น กลองยาว กรับ โหม่ง ฆ้อง มาเคาะ เป็นจังหวะ ความเร็ว ช้า ให้อารมณ์ความรู้สึกครึกครื้น อับเฉา ชุ่มฉ่ำ เป็นต้น
จังหวะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก โดยเฉพาะทางร่างกาย ความตื่นเต้นเร้าใจต่อจังหวะที่ได้ยิน “ฟังแล้วเนื้อเต้น” จังหวะมักถูกนำไปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิต ความรู้สึก ปลุกวิญญาณ ความเป็นชาตินิยม ฯลฯ จังหวะมักจะเร่งเร้าให้ร่างกายแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อจังหวะที่ได้ยิน จังหวะเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของธรรมชาติ ทุกอย่างมีจังหวะควบคุม การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล กลางวัน กลางคืน ความเป็น ความตาย เป็นธรรมชาติที่ประกอบขึ้นด้วยจังหวะ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สัดส่วนของอาหาร สถาปัตยกรรม ความสมดุลของสรรพสิ่ง ภาพวาด ท่าทางที่ร่ายรำ ลีลาของฉันทลักษณ์ แม้แต่ลีลาของชีวิต ล้วนเกี่ยวข้องกับจังหวะทั้งสิ้น

3. ฟังทำนอง (Melody) ทำนองเป็นรูปร่างหนาตาภายนอก เป็นโครงสร้างบอกถึงขอบเขตของความสูงต่ำของเสียง การฮัมเพลง การผิวปาก การร้องเพลงเป็นการนำแนวทางทำนองมาใช้ ทำนองจะให้อารมณ์ชัดเจนกว่าจังหวะ ให้ความรู้สึกลึกลงถึงจิตใจมากกว่าส่วนของจังหวะ ขณะเดียวกันทำนองก็มีจังหวะรวมอยู่ด้วย

4. ฟังเนื้อร้อง (Text) ผู้ฟังจำนวนมากมุ่งฟังดนตรีเพื่อให้รู้เรื่องราวของเพลง เนื้อร้อง สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง บางครั้งดูเหมือนว่าเนื้อร้องเป็นหัวใจของเพลงด้วยซ้ำไป

5. ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน (Harmony) การเรียบเรียงเสียงประสาน คือการนำเอาเสียงมาจัดระบบ เอาเสียงมาซ้อนกันตามกฎเกณฑ์ของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่นิยมกัน เสียงประสานจะเป็นตัวช่วยอุ้มเสียงดนตรีให้มีพลังทางอารมณ์ ช่วยเกื้อหนุนความงามของบทเพลง

6. ฟังสีสันแห่งเสียง (Tone Color) สีสันแห่งเสียงแห่งดนตรีเป็นเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุและรูปแบบของเครื่องดนตรี ทั้งที่เกิดเสียงโดย การดีด สี ตี เป่า หรือการกระทบแบบต่าง ๆ ทำให้เสียงดนตรีมีความแตกต่างกัน

7. ฟังรูปแบบของเพลง (Form) รูปแบบหรือโครงสร้างของเพลง เป็นการฟังดนตรีอย่างภาพรวม เรียนรู้โครงสร้างของบทเพลงว่าเป็นเพลงที่มี 1 ท่อน 2 ท่อน 3 ท่อน หรือ 4 ท่อน รูปแบบของบทเพลงแต่ละบทเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเพลงนั้น ๆ

8. การฟังอย่างวิเคราะห์ (Analysis) การฟังอย่างวิเคราะห์ เป็นการฟังเพื่อหารายละเอียดของผลงานชนิดนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เป็นการฟังโดยมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ฟังเพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นผลงานของใคร สมัยใด ใช้เครื่องดนตรีอะไรบรรเลง แต่งรูปแบบใด การประสานเป็นอย่างไร

9. ฟังเพื่อสุนทรียะ (Aesthetic) การฟังดนตรีเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งเป็นประโยชน์ของชีวิต เป็นการฟังที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ เพราะการฟังประเภทนี้ผู้ฟังจะเลือกเพลงให้เหมาะสมกับตนเอง ผู้ฟังอาจจะมีความพอใจอยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง มีความสุขที่จะเลือกฟังในสิ่งที่ตนชอบ โดยอาศัยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีอยู่ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองให้มากที่สุด

11/09/2550

การนำดนตรีมาใช้เพื่อลดความเจ็บปวด



งานวิจัยของ บำเพ็ญจิต แสงชาติ วิจัยเป็นวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2528 เรื่อง “การนำดนตรีมาใช้เพื่อลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังผ่าตัด” โดยอาศัยแนวทางหลัก



1. ดนตรีมีผลต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางลบหรือบวกก็ได้ตามชนิดของ ดนตรีที่บุคคลนั้นได้สัมผัส ตามนัยยะระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์

2. ดนตรี ทำให้บุคคลมีมนุษยสัมพันธ์ และเข้าสู่สังคมได้

3। ดนตรีสามารถช่วยให้มีการพัฒนาทางด้านชื่อเสียงเกียรติยศของปัจเจกบุคคล และบรรลุถึงความเชื่อมั่นและเข้าใจตนเอง

4. เสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองและประกอบด้วยลีลาจังหวะการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดพลังชีวิต และสามารถปฏิบัติตามได้

5. ดนตรีทำให้เกิดสมาธิ มีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ มีความละเอียดทางด้านอารมณ์และแนวความคิด

6. ดนตรีทำให้คลายความเครียด และลดความกังวลได้


ปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีผลดียิ่งทั้งโรคทางกาย และจิตเวช กรีกเป็นชาติแรกที่ใช้พิณดีดรักษาโรคซึมเศร้า ดนตรีบำบัดสามารถใช้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ดี มีประโยชน์ และมีคุณค่าสูงแต่ต้นทุนต่ำ ใช้ได้ทั้งลดอาการเจ็บปวดจาการคลอดจาการถอนฟัน รักษาคนที่มีความเครียด กังวล ผู้ป่วยทางกาย ทางจิต คนพิการ ผู้มีปัญหาทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังใช้กับการพัฒนาการรับรู้ของเด็กทารก เยาวชนใช้พัฒนาการทำงานและสร้างเสริมมนุษยสัมพันธ์ของตนได้


การนำดนตรีบำบัดไปใช้เป็นสื่อในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนักดนตรีบำบัด (Music Therapist) จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรี และความผิดปกติทางด้านจิตใจ หรือโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตใจเป็นอย่างดี นักดนตรีบำบัดจะต้องทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนักดนตรีบำบัดควรวิเคราะห์ และวินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยรายใดควรจะใช้ดนตรีบำบัดในรูปแบบใด ควรใช้องค์ประกอบใดของดนตรีในการบำบัดรักษา (พีระชัย ลี้สมบูรณ์ผล 2541 : 5)


นอกจากนี้ ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ (25437 : 18 – 19) ได้กล่าวถึงดนตรีเพื่อการบำบัดไว้ดังนี้ นักจิตวิทยา เพื่อว่าดนตรีช่วยพัฒนาการของมนุษย์ได้ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และสามารถใช้ดนตรีแก้ไข ปรับปรุง ข้อบกพร่องบาวอย่างทั้งทางกาย และทางอารมณ์ได้ด้วย เช่น การพูดติดอ่าง นิสัยก้าวร้าว ตลอดจนอาการของเด็กประเภท Autistic Child
ผลจากความรู้และการทดลองด้านนี้ ทำให้ดนตรีก้าวเข้าไปมีบทบาททางการแพทย์และจิตเวช โดยใช้ช่วยบำบัดอาการป่วยไข้ทางจิต เสริมการบำบัดรักษาตามวิธีการทางการแพทย์บทบาทนี้ทำให้เกิดวิชา ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเปิดสอนเป็นวิชาเอก สำหรับนักดนตรี และนักศึกษา


ความจริงเรื่องการใช้ดนตรีบำบัดอาการป่วยไข้ มีมานานแล้ว ในพระคัมภีร์ไบเบิลระบุว่า “ดาวิด” เคยดีดพิณบำบัดอาการหงุดหงิดของกษัตริย์ซาอูล
ผลงานจำนวนมากของนักมานุษยวิทยาก็ช่วยสนับสนุนข้อมูลข้างต้นด้วยว่า มนุษย์เชื่อในอิทธิพลของดนตรีมานานแล้ว เพราะ พิธีกรรมบำบัด (Healing Rituals) ของชนเผ่าต่าง ๆ ส่วนมากมีดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ข้อที่แตกต่างกันนั้นคือ ดนตรีบำบัดแผนใหม่ เป็นวิทยาศาสตร์ในขณะที่พิธีกรรมบำบัดเป็นไสยศาสตร์ แต่ข้อที่เหมือนกันคือ ดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรม หรือในคลินิก ก็ตาม จะต้องผ่านการพิจารณาเลือกเฟ้นแล้วว่าเหมาะสมกับผู้ป่วย
การที่พ่อมด หรือหมอผี ผู้ประกอบพิธีกรรมบำบัด เป็นทั้งหมอ และสื่อกลางสำหรับติดต่อกับเทพสถานภาพในสังคม คนเหล่านี้จึงสุงกว่าชาวบ้านทั่วไป ผลที่ติดตามมาคือดนตรีหรือเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมพลอยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย


ดนตรีชาวฮินดู เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ บันไดเสียงหรือ ราค (Raga) แต่ละชนิดจะมี กาละ และเทศะ กำกับไว้อย่างเคร่งครัด ละเมิดไม่ได้ เพราะดนตรีของเขาเป็นของที่ได้รับมาจากต้น


ดนตรี คือ ลักษณะของเสียงที่ได้รับการจัดเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีแบบแผนและโครงสร้างชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 3 ด้านใหญ่ ๆ คือ เพื่อความสุนทรีย์, เพื่อการบำบัดรักษา และเพื่อการศึกษา

องค์ประกอบต่างๆ ของดนตรี ก็มีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป เช่น

1) จังหวะหรือลีลา (Rhythm) ช่วยสร้างเสริมสมาธิ (Concentration) และช่วยในการผ่อนคลาย (Relax)
2) ระดับเสียง (Pitch) เสียงในระดับต่ำ และระดับสูงปานกลาง จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ

3) ความดัง (Volume/ Intensity) พบว่าเสียงที่เบานุ่มจะทำให้เกิดความสงบสุข สบายใจ ในขณะที่เสียงดังทำให้เกิดการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อได้ ความดังที่เหมาะสมจะช่วยสร้างระเบียบในการควบคุมตนเองได้ดี มีความสงบ และเกิดสมาธิ

4) ทำนองเพลง (Melody) ช่วยในการระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และลดความวิตกกังวล

5) การประสานเสียง (Harmony) ช่วยในการวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้โดยดูจากปฏิกิริยาที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่างๆ จากบทเพลง



















ดนตรีกับการแสดง























ดนตรีกับการแสดงในแต่ละภาค












ดนตรีบำบัด


ดนตรีบำบัดคืออะไร
ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือศาสตร์ที่ว่าด้วย การนำดนตรีหรือองค์ประกอบอื่นๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้เพื่อปรับเปลี่ยน พัฒนา และคงรักษาไว้ซึ่งสุขภาวะของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยนักดนตรีบำบัดเป็นผู้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ผ่านทางกิจกรรมทางดนตรีต่างๆ อย่างมีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์


เป้าหมายของดนตรีบำบัดไม่ได้เน้นที่ทักษะทางดนตรี แต่เน้นในด้านพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคลที่มารับการบำบัด สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายบริบท เช่น ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์
ลักษณะเด่นของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวหลายด้าน ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับอายุ และหลากหลายปัญหา ลักษณะเด่น ได้แก่

1) ประยุกต์เข้ากับระดับความสามารถของบุคคลได้ง่าย


2) กระตุ้นการทำงานของสมองได้หลายส่วน


3) กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน


4) ช่วยพัฒนาอารมณ์ และจิตใจ


5) เสริมสร้างทักษะทางสังคม และการสื่อสาร


6) ให้การรับรู้ที่มีความหมาย และความสนุกสนาน ไปพร้อมกัน


7) ประสบความสำเร็จในการบำบัดได้ง่าย เนื่องจากประยุกต์ใช้ได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความสามารถ

เพลงเด็ก


เพลงเด็ก สามารถช่วยแก้ปัญหา เด็กสมาธิสั้น ได้จริงหรือไม่ ?

ความหมายของเด็กสมาธิสั้น ก็คือ เด็กที่ซนหรือว่าดื้อมาก ไม่ชอบอยู่นิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่นั้น จะมีการถ่ายทอด ทางพันธุกรรม ในเรื่องของ ระบบประสาท และสารเคมีในสมอง หรือเกิดจาก สภาพของสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เหมาะสม สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
เด็กที่มีความบกพร่อง ทางสมอง ซึ่งเด็กพวกนี้จะ ขี้หลงขี้ลืม เหม่อลอย มีความช่างฝัน ประมาณว่าชอบทำของหายบ่อยๆ ให้ความสนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่คนปรกติไม่ให้ความสำคัญ ไม่สามารถที่จะเข้าใจ ในประโยคคำสั่งที่ยาวๆ มีความลำบากในการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้สมองความคิดเป็นเวลานานๆ
เด็กที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง นึกอยากทำอะไรก็ทำ คือเด็กที่มีอาการ หุนหันพลันแล่น ประมาณว่า ชอบพูดคุยจนมากเกินไป ลุกนั่งเดินวิ่งบ่อยๆ มีอาการลุกลี้ลุกลน ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักระมัดระวังอันตราย มีอารมณ์แปรปรวน ไม่มีความอดทน ขี้ฟ้อง ชอบพูดขัดจังหวะผู้อื่น


ผลจากการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ในเรื่อง เพลงเด็ก พบว่า การให้เด็กที่มีสมาธิสั้น หัดเล่นดนตรี จะเป็นการกระตุ่น ให้เด็กเกิดความสนใจในดนตรี และได้มีการระบายอารมณ์ออกมา ทำให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย เด็กจึงมีสภาพของอารมณ์ที่ดีขึ้น สามารถจดจำเนื้อร้องต่างๆ ได้ และสามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กทั่วไปได้ดี ดังนั้น ดนตรีกับเด็ก จึงมีประโยชน์มาก นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับ การพัฒนาการที่ดีของเด็กอีกด้วย

ประโยชน์ดนตรีบำบัด

ประโยชน์ของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ตามเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่แตกต่างกันไปทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ปัญหาบกพร่องของพัฒนาการ สติปัญญา และการเรียนรู้ โรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ การบาดเจ็บทางสมอง ความพิการทางร่างกาย อาการเจ็บปวด และภาวะอื่น ๆ
สำหรับบุคคลทั่วไป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีบำบัดได้เช่นกัน ช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียด และในการออกกำลังกายเสริมสร้างสุขภาพ
ประโยชน์ของดนตรีบำบัดมีดังนี้
1) ปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองในเชิงบวก
2) ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล (Anxiety/ Stress Management)
3) เสริมสร้างและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ (Cognitive Skill)
4) กระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้ (Perception)
5) เสริมสร้างสมาธิ (Attention Span)
6) พัฒนาทักษะสังคม (Social Skill)
7) พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา (Communication and Language Skill)
8) พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skill)
9) ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle Tension)
10) ลดอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่างๆ (Pain Management)
11) ปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Behavior Modification)
12) สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดรักษาต่างๆ (Therapeutic Alliance) ช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช ทั้งในด้านการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก การควบคุมตนเอง การแก้ปมขัดแย้งต่างๆ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
โดยสรุปดนตรีบำบัด มีประโยชน์หลากหลายขึ้นอยู่กับการนำไปใช้เสริมสร้างสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบูรณาการเข้ากับการรักษาอื่น